เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 4. สุมังคลชาดก (420)
3. สุลสาชาดก (419)
ว่าด้วยนางสุลสาหญิงงามเมือง
(นางสุลสากล่าวกับสามีว่า)
[18] นี้สร้อยทองคำ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
เป็นจำนวนมาก ขอเชิญพี่ขนไปทั้งหมด
ขอพี่จงมีความเจริญ และจงประกาศดิฉันว่าเป็นนางทาสี
(สามีกล่าวว่า)
[19] แม่โฉมงาม เธอจงเปลื้องออกมาเถิด
อย่าคร่ำครวญไปนักเลย
เราจะไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น ฆ่าเจ้าแล้วจึงนำทรัพย์ไป
(นางสุลสากล่าวว่า)
[20] ตั้งแต่ดิฉันรู้เดียงสา ดิฉันจำตัวเองได้ว่า
ยังไม่เคยรู้จักรักชายอื่นยิ่งกว่าพี่เลย
[21] มานี้เถิด ดิฉันจักสวมกอดพี่
และจักกระทำประทักษิณ
เพราะตั้งแต่นี้ต่อไป ดิฉันและพี่จะไม่พบกันอีก
(เทวดาผู้สถิตอยู่ที่ยอดเขากล่าวว่า)
[22] ใช่ว่าชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่
แม้หญิงมีปัญญาเห็นประจักษ์ในเรื่องนั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้
[23] ใช่ว่าชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่
แม้หญิงมีปัญญาคิดเนื้อความได้ฉับพลันก็เป็นบัณฑิตได้
[24] นางสุลสาเผชิญหน้าโจร คิดอุบายได้อย่างเร็วพลันหนอ
ได้ฆ่าโจรสัตตุกะเหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด
เมื่อธนูมีลูกศรพร้อมย่อมฆ่าเนื้อได้เร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :288 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [8. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค 4. สุมังคลชาดก (420)
[25] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญาน้อย
ย่อมถูกฆ่าเหมือนโจรที่ถูกฆ่าทิ้งที่ซอกเขา
[26] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนนางสุลสาพ้นจากโจรสัตตุกะ
สุลสาชาดกที่ 3 จบ

4. สุมังคลชาดก (420)
ว่าด้วยนายสุมังคละ
(พระราชาตรัสกับอำมาตย์ว่า)
[27] ผู้เป็นใหญ่รู้ตัวว่าเรากำลังโกรธจัดก็อย่าเพิ่งลงโทษ
เพราะผู้ลงโทษอันไม่เหมาะสมแก่ตนโดยขาดเหตุผลแล้ว
จะพึงก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นอย่างมากมาย
[28] เมื่อใดผู้เป็นใหญ่รู้สึกว่าตนมีจิตผ่องใส
พึงพิจารณาคดีที่คนอื่นทำผิด
เมื่อพิจารณาด้วยตนเองว่า คดีเป็นอย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้นพึงลงโทษตามความเหมาะสมแก่เขา
[29] ส่วนผู้ใดไม่ลำเอียง พิจารณาความเหมาะสมและไม่เหมาะสม
ผู้นั้นชื่อว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง
ผู้เป็นใหญ่คนใดในโลกนี้ลงโทษตามสมควร
ผู้นั้นย่อมมีคุณงามความดีคุ้มครอง ไม่เสื่อมจากสิริ
[30] กษัตริย์เหล่าใดทรงลำเอียง ไม่ทรงพิจารณาก่อนกระทำ
ทรงรีบลงพระอาชญา
กษัตริย์เหล่านั้นมีโทษอันน่าติเตียน
สวรรคตพ้นจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :289 }